กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง
ประวัติและความเป็นมา
เป็นกลุ่มชนที่ถูกจัดอยู่ในตระกูลจีน (Main Chinese) เช่นเดียวกับชาวเมี่ยน และจีนฮ่อ (Young, 1961) และนักภาษาศาสตร์จัดให้อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน หรือแม้ว-เย้า (Hmong-Mien or Miao-Yao language family) ประวัติศาสตร์ของจีนได้กล่าวถึงชาวม้ง (ชาวจีนเรียกคนม้งว่า “แม้ว” หรือ “เหมียว”) ว่าเมื่อประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล ชาวม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่มากบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเหลืองและลุ่มน้ำแยงซี และต่อมาได้อพยพมาอาศัยอยู่ที่ลำธารห้าสาย ในระหว่างช่วงปี 220 ก่อนคริสตกาล และ 220 ปี หลังคริสตกาล ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมณฑลหูหนานติดกับทิศตะวันออกของมณฑลกุ๊ยโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้กล่าวถึงการต่อสู้ของพวกม้งกับพวกเฮียเป็นพวกจีนโบราณ อย่างทรหดผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มีการใช้นโยบายกดขี่พวกม้ง พวกม้งได้ต่อสู้ขัดขืนและเป็นกบฎ และต่อมาพวกม้งปราชัยและถูกบังคับให้ยอมรับวัฒนธรรมจีน จึงทำให้ชาวม้งบางส่วนที่ไม่ยอมรับการอยู่ภายใต้การครอบงำวัฒนธรรมดังกล่าวพากันอพยพลงมาทางตอนใต้เข้าสู่แถบประเทศอินโดจีน การอพยพของชาวม้งเข้ามาอยู่ยังแถบบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเริ่มเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สมัยราชวงค์ชิง (Qing : 1644 – 1911) หรือราชวงค์แมนจูราชวงค์สุดท้ายของจีน โดยพยพลงมาอาศัยอยู่แถบภูเขาทางภาคเหนือของลาว เวียดนาม ไทย และพม่า นอกจากนี้ยังมีชาวม้งที่ได้อพยพหลังสงครามเวียดนามสงบ โดยไปอยู่ยังประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส
การอพยพและตั้งถิ่นฐาน
ม้งอาศัยอยู่มากในประเทศจีน สำหรับการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากรของชาวม้งในจีนนั้น ประมาณว่ามีประชากรเกือบ 7.4 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลกุ๊ยโจว 4.34 ล้านคน และกระจายอยู่ตามมณฑลหูหนาน เสฉวน กวางสี กวางตุ้ง หูเป่ย บางกลุ่มอยู่ลึกเข้าไปถึงมองโกเลีย ซินเจียง และปักกิ่ง
ม้งในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยได้มีการอพยพของชาวม้งเข้ามาครั้งแรก ประมาณปี ค.ศ.1889 โดยอพยพผ่านประเทศลาวเข้ามาทางอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ส่วนม้งในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนหนึ่งอพยพผ่านมาทางพม่าเข้ามาทางอำเภอฝางจนมาถึงดอยอินทนนท์ จากสถิติของกรมประชาสงเคราะห์ ที่พิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยชาวเขา ประชากรม้งในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 126,300 คน ตั้งชุมชนกระจัดกระจายอยู่ใน 13 จังหวัดของประเทศไทย คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลกและจังหวัดเลย
กลุ่มชาติพันธุ์
การจำแนกกลุ่มชาวม้งในประเทศไทยมีการแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 2 กลุ่ม คือ ม้งขาว (ม้งเด๊อในภาษาม้ง) และม้งน้ำเงิน ม้งดำ ม้งเขียวหรือม้งลาย (ม้งจั๊วหรือม้งเหล่งในภาษาม้ง) โดยจำแนกตามลักษณะการแต่งกายเป็นหลัก โดยม้งขาวหรือม้งเด๊อทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะสวมกางเกงขาก๊วยสีดำ ฟ้า หรือน้ำเงิน สวมเสื้อแบบชาวจีน กางเกงผู้หญิงจะมีผ้าสีฟ้าหรือน้ำเงินคาดปิดทั้งด้านหน้าและหลังความยาวตั้งแต่เอวถึงครึ่งน่อง และมักจะสวมกระโปรงจีบขาวเมื่อมีงานเทศกาลปีใหม่หรือการแต่งงาน ส่วนม้งน้ำเงินนั้นผู้ชายจะสวมกางเกงสีดำเป้ายานขายาวถึงข้อเท้า ปลายขากางเกงมีผ้าปักลวดลายเย็บปิดเป็นขอบ เสื้อสีดำหรือน้ำเงินแขนยาวมีผ้าปักลวดลายเช่นเดียวกับกางเกง ผู้หญิงจะสวมกระโปรงจีบยาวประมาณหัวเข่ามีลายดอกและลวดลายที่ปักหลากสี เช่น ฟ้า แดง ส้ม เขียว บานเย็น ขาว เป็นต้น ม้งทั้งสองกลุ่มมีสำเนียงภาษาพูดที่แตกต่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่ยังคงมีการยึดถือปฏิบัติตามประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวม้งที่ยึดถือแซ่สกุลหรือตระกูลเป็นหลัก โดยม้งแซ่เดียวกันถือว่าเป็นพี่น้องกัน
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
หมวดหมู่: | ชาติพันธุ์ | กิจกรรม | วันที่ | หมู่บ้าน