กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า

ประวัติและความเป็นมา

 กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนานของประเทศจีน อาข่าไม่มีภาษาเขียนแต่มีภาษาพูดเป็นของตนเองที่นักภาษาศาสตร์ได้จัดให้อาข่าอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาจีน–ทิเบต (Sino-Tibetan language family)

การอพยพและตั้งถิ่นฐาน

ชาวอาข่าเดิมนั้นมีการกล่าวถึงว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวหยี (Yi) ซึ่งแยกตัวออกจากชาวโลโลที่มีอาณาจักรโลโลเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา ชาวอาข่าเชื่อว่าพวกตนมีอาณาจักรเป็นอิสระของตนเองอยู่บริเวณต้นน้ำไท้ฮั้วสุย ในแคว้นทิเบต ชาวอาข่าที่ชาวฮั่นเรียกว่าพวกหยีหรือโลโลอื่นรวมทั้งโลโลหรือหยีที่ถูกจีนเรียกว่าฮาหนี่ (Hani)และพวกที่เรียกตนเองว่าอาข่า (Akha) ได้พากันอพยพโยกย้ายลงมาทางตอนใต้ เนื่องจากถูกรุกรานจากชนกลุ่มอื่นจึงพากันอพยพเข้าสู่มณฑลยูนนาน กวางเจา และแคว้นสิบสองปันนา การบันทึกประวัติศาสตร์อาข่าปรากฏขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 12 หลังจากที่อพยพมาอยู่ในมณฑยูนนานแล้ว เป็นช่วงที่อาข่ามีความเจริญรุ่งเรืองต่อมาถูกกองทัพมองโกลรุกราน และถูกกองทัพชนเผ่าไตลื้อยกทัพมาแย่งชิงที่ดินทำกินในพื้นที่ราบที่ทำนาทำให้อาข่าพากันหลบหนีไปอยู่ในพื้นที่สูง และเมื่อมีการปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครองประเทศจีน อาข่ารวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้อพยพลงใต้เข้าสู่ประเทศพม่าทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางเมืองเชียงตุง และบริเวณแขวงหัวของ แขวงพงสาลีของลาว ปัจจุบันอาข่ากระจัดกระจายตัวอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างแม่น้ำดำในเวียดนามมาจนถึงแม่น้ำสาละวินในพม่า แหล่งที่มีการกระจุกตัวมากที่สุดคือแคว้นสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน บางส่วนของลาว และเชียงตุงในพม่า

อาข่าในประเทศไทย

การเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยของอาข่านั้นมีการสันนิษฐานว่าประมาณต้นศตวรรษที่ 20 ที่อาข่าตั้งถิ่นฐานครั้งแรกทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในทศวรรษปี พ.ศ.2490 ที่อาข่ามีการอพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของอาข่าว่าได้มีการอพยพมาอยู่ครั้งแรกที่ดอยตุงนำโดยผู้นำชื่อแสนอุ่นเรือน มีน้องชื่อแสนพรมไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านผาหมี อำเภอแม่สาย และหลานชื่อแสนใจไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านแสนใจ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อาข่าส่วนใหญ่ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศนั้นมาจากเชียงตุง ประเทศพม่า เข้ามาตั้งบ้านเรือนบริเวณดอยตุง จังหวัดเชียงราย และมีการอพยพตามอีกหลายระลอกจากสิบสองปันนามาอยู่บริเวณอำเภอแม่สาย จากนั้นได้กระจายตัวกันออกไปตามภูเขาต่างๆในภาคเหนือ อาข่าจึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีการเคลื่อนย้ายตามเครือญาติ การอพยพเคลื่อนย้ายเพื่อแสวงหาความสงบและระบบนิเวศพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนการแสวงหาความเป็นธรรมทางการเมืองในการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีที่ไม่ต้องอยู่ใต้การบังคับของชนชาติที่มีอำนาจเหนือกว่าซึ่งมีสุภาษิตของอาข่าที่กล่าวว่า……“อาข่า เช้ข่า ถี่ข่ามา (Aqkaq tsel kaq tiq kaq ma)…..อาข่าแม้อยู่แห่งหนใดย่อมเป็นหนึ่งเดียวหรือเผ่าพันธุ์เดียว” ซึ่งจากการสำรวจของสถาบันวิจัยชาวเขาพบว่าอาข่ามีการกระจายการตั้งชุมชนอยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ ลำปาง แพร่ และพะเยา มีจำนวน 256 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 49,903 คน

กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า

อาข่าในประเทศไทยมีความแตกต่างกันซึ่งสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมอาข่าจังหวัดเชียงราย (2543) ได้จำแนกอาข่าในประเทศไทยโดยใช้หลักเกณฑ์คือการจำแนกความแตกต่างทางการแต่งกาย การจำแนกตามชื่อบรรพบรุษหรือ “จึ” การจำแนกตามภูมิประเทศที่อยู่อาศัย และการจำแนกตามภาษาและสำเนียงพูด โดยมีการจำแนกออกเป็น 8 กลุ่มดังนี้

  1. กลุ่มอู่โล้อาข่า (Uqlor aqkaq) หรืออาข่าไทย เป็นกลุ่มที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก เข้ามาทางภาคเหนือและอาศัย อยู่ในบริเวณพื้นที่ดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวงในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในจังหวัดเชียงรายกระจายอยู่ในพื้นที่ อำเภอต่างๆ เช่น แม่จัน เมือง แม่สรวย และเชียงแสน ต่อมามีการกระจายตัวไปสู่จังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่ เป็น ต้น การเรียกชื่อกลุ่มว่าอู่โล้อาข่าเรียกตามชื่อหมวกที่คำว่า “อู่โล้” หมายถึง หมวกหัวแหลม โดย “อู่ย่อมาจากคำว่า อู่คู่” หมายถึงหัวหรือศรีษะ ส่วน “โล้” หมายถึงแหลมสูง ชาวอู่โล้อาข่าเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่ามีประมาณ 32,500 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ และตาก  
  2. กลุ่มลอมี้อาข่า (Lawmir aqkaq) หรืออาข่าพม่า เป็นกลุ่มที่มีประชากรรองลงมาจากกลุ่มอู่โล้อาข่า โดยอพยพมาจากพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เป็นส่วนมาก เป็นกลุ่มที่อพยพตามหลังมาจากกลุ่มอู่โล้อาข่ามีประชากรประมาณ 19,000 คน มีมากที่สุดในอำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย การเรียกชื่อกลุ่มเรียกถิ่นที่อยู่อาศัยโดยคำว่า “ลอมี้” หมายถึงดอยหมี และอาข่าออกสำเนียงพูดเป็นลอมี้ อาข่ากลุ่มนี้กระจายตัวไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และตาก  
  3. กลุ่มผาหมีอาข่า (Paqmir aqkaq) หรืออาข่าจีน เป็นกลุ่มที่ได้รับการขนามว่าเป็นกลุ่มพ่อค้าเนื่องจากเคยอาศัยอยู่กับคนจีนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตจากคนจีนในพื้นที่มณฑลยูนนาน เขตสิบสองปันนา ผาหมีอาข่าเป็นการเรียกตามชื่อหมู่บ้านบริเวณดอยผาหมีที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อาข่ากลุ่มนี้อาศัยอยู่มากในประเทศจีน และมีน้อยในประเทศไทย กระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอแม่สาย แม่สรวย และแม่จัน จังหวัดเชียงราย และมีบางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก อาข่ากลุ่มนี้ยังมีชื่อเรียกว่า “หละบื่ออาข่า” (Laqbeeq akaq) หมายถึงอาข่าจีน หรือ อู่บย่าอาข่า (Uqbyaq akaq) อาข่ากลุ่มนี้มีประชากรเป็นอันดับ 3 ประมาณ 5,200 คน  นิยมแต่งกายด้วยเครื่องประดับเงินวาวระยิบระยับ
  4. กลุ่มเปียะอาข่า (Pyavq aqkaq) เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากพม่า เข้ามาทางอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยเรียกชื่อว่า “เปียะ” ตามชื่อตำแหน่งผู้นำหรือชื่อผู้ปกครองในประเทศพม่าที่ชื่อว่า “อาบ้อเปียะ” (Aqbawr pyavq) มีประชากรประมาณ 4,500 คน กระจายตัวอยู่ในจังหวัดเชียงราย ลำปาง อาข่ากลุ่มนี้มีการแต่งกายที่เน้นเครื่องประดับด้วยโทนผ้าสีแดงทั้งชายและหญิง
  5. กลุ่มหน่าค้าหรือหนะคะอาข่า (Naqkar aqkaq) เป็นกลุ่มที่ถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณระหว่างประเทศจีนกับพม่าและถูกโจรคุกคามจึงพากันอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย การเรียกชื่อกลุ่มหนะคะอาข่าเรียกชื่อตามถิ่นฐานที่อยู่เดิมเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจึงเรียกชื่อเดิมตาม อาข่ากลุ่มนี้จะมีลักษณะเด่นที่การแต่งกายจากหมวกผู้หญิงที่รูปทรงคล้ายหมวกทหารและเย็บด้วยผ้าที่ประดับด้วยเม็ดเงิน เป็นกลุ่มมีอยู่ในพื้นที่เดียวคืออำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีประชากรน้อยประมาณ 1,900 คน  
  6. กลุ่มอาเค้ออาข่า (Arker aqkaq) เป็นกลุ่มที่เดิมอาศัยอยู่ในจีนใกล้พรมแดนทิเบต ต่อมาได้อพยพมาอยู่ทางตอนเหนือของพม่า จากการปฏิวัติการปกครองในประเทศจีนและได้อพยพมาอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทย กลุ่มนี้ถูกชาวอาข่ากลุ่มอื่นเรียกว่า อาเค้อ” (Arker) เนื่องจากมีการแต่งกายและภาษาพูดที่แตกต่างออกไป ขณะที่กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “กอคื้อ” กลุ่มนี้มีประชากรประมาณ 650 คน อาศัยอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยคือบริเวณหมู่บ้านอาเค้อ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และปัจจุบันมี 10 ครัวเรือนที่ย้ายจากบ้านอาเค้อมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านยาแดง ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย   
  7. กลุ่มอู่พีอาข่า (Uqpi aqkaq) เป็นกลุ่มที่มีถิ่นเดิมอยู่ในพม่าและมีมากในเขตเมืองเชียงตุง อพยพเข้ามาในประเทศไทยจากความไม่สงบในประเทศพม่า มาอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย การเรียกชื่อกลุ่มนั้นเรียกตามคำว่า “อู่ดู่” หมายถึงหัวหรือศรีษะ และคำว่า “พี้” หมายถึง การแบกรับ หรือหาม จากการสวมใส่หมวกที่มีลักษณะรูปทรงแบกรับมีห่วงเป็นวงกลมห้อยหลัง จึงตั้งชื่อกลุ่มตามหมวกที่สวมใส่ เป็นกลุ่มที่มีประชากรน้อยที่สุดในประเทศไทยโดยมีจำนวนประมาณ 650 คน 
  8. กลุ่มอ้าจ้ออาข่า (Arjawr aqkaq) เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากประเทศพม่า เข้ามาสู่ประเทศไทยในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ การแต่งกายจะมีหมวกเป็นเอกลักษณ์ที่มีลักษณะแหลมสูง การเรียกชื่อกลุ่มนั้นเรียกตามการเปลี่ยนแปลงโดยคำว่า “อ้า” หมายถึงอาข่า “จ้อ” หมายถึงหักเหเปลี่ยนแปลง เป็นกลุ่มที่มีประชากรน้อยมากประมาณ 650 คน