ชุมชนชาติพันธุ์บีซูบ้านดอยชมภู ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
ชุมชนชาติพันธุ์บีซูบ้านดอยชมภู หมู่ที่ 7 ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
บีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) สาขาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) กลุ่มย่อยเบอมีช-โลโล (Burmese-Lolo) และแยกย่อยเป็นกลุ่มโลโลอีช (Loloish) อยู่ในกลุ่มย่อยโลโลใต้ (Southern Loloish) กลุ่มย่อยบิซอย (Bisoid) (สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ, 2547) บีซูในประเทศไทยพบอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง และอำเภอแม่ลาว มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 900 กว่าคน ถิ่นที่มีคนบีซูอาศัยอยู่หนาแน่นคือ ที่บ้านปุยคำ ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ประมาณ 500 กว่าคน และบ้านดอยชมภู หมู่ 7 ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ประมาณ 400 กว่าคน และที่ปุยคำ หมู่ 14 มีบีซูอยู่ประมาณ 70 หลังคาเรือน มีชาวไทยวนมาอยู่ด้วย ประวัติชุมชนบีซูบ้านดอยชมภูพบว่ามีการเล่าขานสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษว่านามสกุลเดิมคือวงศ์ละ ซึ่งเป็นชื่อของผู้นำชุมชนสมัยก่อนชื่อกะกุละแต่ในสมัยที่กรมประชาสงเคราะห์มาสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์คนภายนอกเรียกปนกันระหว่างวงศ์ละกับวงศ์ลัวะ จากการสัมภาษณ์นายต้น ใจศร ผู้ใหญ่บ้านดอยชมพู และนายสมชาย วงศ์ภักดี คณะกรรมการหมู่บ้าน และอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม เล่าว่าได้อพยพมาจากหมู่บ้านผาแดง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย รวมถึงหมู่บ้านดงตะเคียน อำเภอพาน จังหวัดชียงราย จากนั้นเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายมาตั้งเป็นหมู่บ้านเหล่าเชิญชม อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย และต่อมามีการโยกย้ายประชากรแล้วมาก่อตั้งเป็นบ้านห้วยชมภู ในปี พ.ศ.2524
ประชากร
มีประชากรปัจจุบันในหมู่บ้านจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 56 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดจำนวน 210 คน ชาย 90 คน หญิง 120 คน ชาวบีซูที่ดอยชมภูส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวเหนียวและอื่นๆ มีส่วนน้อยที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน พื้นที่หมู่บ้านของบีซูดอยชมภู เป็นเขตป่าสงวน มีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชุมชน คนบีซูรักป่า และมีกฎห้ามคนหมู่บ้านอื่นทำลายป่า คนบีซูสามารถเข้าไปเก็บของป่าได้ เก็บเห็ดได้ พื้นที่ทำกินของคนบีซู จะไม่ขายให้คนนอกกลุ่ม แต่จะให้ลูกหลานทำกินสืบทอดกันไปในครัวเรือน ในการปกครองชุมชน มีผู้ใหญ่บ้านดูแลเมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทกันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ตักเตือนหรือลงโทษ โดยการปรับเงินเข้าหมู่บ้าน 400-500 บาท มีการตั้งกฎเกณฑ์ข้อตกลงในชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เช่น ผู้ใดยิงปืนยามวิกาล จะถูกปรับนัดละ 500 บาท และส่วนใหญ่คนในชุมชนจะฟังกัน
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวบีซูในหมู่บ้านดอยชมพูนับถือพระพุทธศาสนาโดยมีวัดดอยชมพูเป็นศูนย์กลาง บีซูนับถือศาสนาพุทธและมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับวัดและพระสงฆ์และมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจตามขนบประเพณีดั้งเดิม บิดามารดานิยมให้บุตรหลานที่เป็นชายบวชเรียน ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะบวชให้พ่อแม่ ถ้าเป็นเด็กจะบวชเพื่อเรียนหนังสือ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีการทำบุญในหมู่บ้านเช่นเดียวกันคนไทยทางเหนือ และมีส่วนน้อยบางครัวเรือนในชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนาจะควบคู่กับการนับถือผีโดยเชื่อว่าผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะทำหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้าน มีความเชื่อเรื่องผีที่คุ้มครองหมู่บ้านทั้งในระดับหมู่บ้านไปจนถึงในครัวเรือนในการตั้งชุมชนต้องมีการตั้งศาลหมู่บ้าน เสากลางบ้าน และประตู 4 ทิศ โดยมีการสร้างประตูไม้ไว้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน เพื่อกันภูตผีปีศาจรบกวน เรียกในภาษาบีซูว่า “สะมาลาแกน” สมัยก่อนชุมชุนของคนบีซูยังไม่หนาแน่น คนที่ปลูกบ้านก็มักจะปลูกในประตูไม้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่พื้นที่มีจำกัด บ้านหลายหลังจึงต้องมาปลูกนอกเขตประตู แต่ยังคงรักษาพื้นที่บริเวณประตูเอาไว้ และมีพิธีทำความสะอาด และปรับปรุงประตูทุกเดือน 8 ของปี โดยมีปู่ตั้งเป็นผู้ทำพิธีกรรมในชุมชนยังคงมีการบูชาผีบรรพบุรุษและผีประจำหมู่บ้านหรือเสื้อบ้านที่เรียกในภาษาบีซูว่า “อังจาว” ถือว่าเป็นอัตลักษณ์สำคัญของชุมชนบีซู ขณะเดียวกันก็ยังคงนับถือผีอื่นด้วยเช่นกัน มีทั้งผีหมู่บ้าน ผีในป่า ผีในถ้ำ ในทุ่งนาและผีบรรพบุรุษ ผีที่ดูแลหมู่บ้านหรือ “อังจาว” ซึ่งมีผู้ช่วยชื่อ “ม้า” หมายถึง ม้า มีหน้าที่ดูแลผีม้าที่เป็นหัวหน้าของม้า ซึ่งชาวบ้านบีซูจะให้ความเคารพนับถืออังจาวเป็นอย่างมากโดยเชื่อว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองหมู่บ้านของตนให้ปลอดจากอันตรายได้ ดังนั้นคนบีซูจึงมีประเพณีที่สำคัญคือประเพณีไหว้หอเสื้อบ้านที่เรียกกันว่า “อังจาวไว” โดยมีปู่ตั้งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้าน
ปู่ตั้ง จึงเป็นคนที่น่าเชื่อถือและต้องเป็นคนบีซูเท่านั้นโดยมีคัดเลือกด้วยการเสี่ยงทาย กล่าวคือ ให้ชาวบ้านเสนอชื่อคนในหมู่บ้านบีซูมาประมาณ 3-4 คน และทำการเสี่ยงทายเก็บเมล็ดข้าวให้ปู่ตั้งเป็นคนเสี่ยงทายถามอังจาวว่าชอบอยู่กับคนไหน ถ้าชอบต้องเก็บเมล็ดข้าวให้ได้ 4 คู่เท่านั้น แล้วถ้าได้ชื่อใคร คนนั้นจะต้องยอมรับเป็นปู่ตั้งคนใหม่ ปัจจุบันในหมู่บ้านดอยชมภูมีปู่ตั้ง 3 คน คือ ปู่ตั้งใหญ่ และปู่ตั้งผู้ช่วย 2 คน ซึ่งปู่ตั้งใหญ่เป็นผู้ดูแลสถานที่หอเสื้อบ้านใหญ่และหอเสื้อบ้านน้อย เปลี่ยนน้ำทุกวันพระ แล้วเปลี่ยนแจกันดอกไม้ และถวายผลไม้ทุกวันพระ เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษาทุกๆวันพระ ปู่ตั้งจะต้องเชิญอังจาวไปที่หอในวัด ตอนเช้าชาวบ้านจะเอาข้าว อาหาร ขนม ผลไม้ และกรวยดอกไม้เอาไปใส่ในตระกร้าของอังจาว แล้วปู่ตั้งก็จะเอาของที่ชาวบ้านใส่ในตระกร้าไว้ไปถวายให้อังจาว และเชิญอังจาวกลับมาที่หิ้งในบ้านในตอนค่ ทำเช่นนี้ตลอดระยะเวลาสามเดือนช่วงเข้าพรรษา ส่วนปู่ตั้งผู้ช่วยจะทำหน้าที่ช่วยทำพิธีที่ประตูบ้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (บูชาด้วยไก่) และประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้ (บูชาด้วยสุนัข)