ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านห้วยบง ตำบลวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านห้วยบงตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านจันทร์  อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ

ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านห้วยบง เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่งในเขตขุนน้ำแม่แจ่มหรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า มูเจะคี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น โดยมีการสันิฐานว่าหมู่บ้านห้วยบงก่อตั้งมาได้ประมาณ 160 ปีแล้ว ตามประวัติจากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในชุมชนพบว่าเมื่อแรกมาตั้งรกรากฐานใหม่ๆ โดยมีนายหน่อเด้ เดิมทีเป็นคนทางแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานพร้อมเพื่อนบ้านไม่กี่หลังคาเรือน ในครั้งนั้นชาวบ้านได้มาตั้งหมู่บ้านอยู่ในป่าที่ลึกกว่าปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ และมีกอไม้ไผ่บงกอขนาดใหญ่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า บ้านห้วยบง หรือมีชื่อที่เรียกการในท้องถิ่นตามภาษาของปกาเกอะญอว่า “หว่าซึ๊คี หรือ หว่าซึ๊โข่คี” ซึ่งแปลว่า บ้านห้วยบงหรือบ้านขุนบง บ้านห้วยบงนี้เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านหนองเจ็ดหน่วย ซึ่งห่างกัน 1 กิโลเมตรกว่า ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านเริ่มที่จะอพยพเข้ามาจากที่ต่างๆมากขึ้นทำให้มีการบุกรุกป่าทั้งการสร้างบ้านเรือนและการประกอบอาชีพมากขึ้น ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยเริ่มเสื่อมโทรมลงเพราะมีจำนวนประชากรมากขึ้นที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยบงเดิมทีมีความเชื่อนับถือผีบรรพบุรุษและอำนาจเหนือธรรมชาติ เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยมีการบูชาโดยการเลี้ยงผีตามความเชื่อที่ว่า การเจ็บไข้เพราะมีดวงวิญญาณของบุรุษมาเบียดเบียน เพื่อขอส่วนบุญจากพี่น้อง  ต่อมาหลังจากที่พระธรรมจาริกเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาและตั้งอาศรมในชุมชน ทำให้ชาวบ้านที่เห็นว่าการประกอบพิธีการเลี้ยงผีเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเพราะการเลี้ยงผีต้องมีคนในครอบครัวอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันจึงจะทำให้การเลี้ยงผีแต่ละครั้งมีความสมบูรณ์ แต่เมื่อขาดคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งไปทำให้การเลี้ยงผีไม่สมบูรณ์ เนื่องจากปัจจุบันลูกหลานอพยพออกจากชุมชนทั้งในการเข้ามาศึกษาและออกมาเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง ทำให้การที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักด้วยเหตุนี้ชาวบ้านห้วยบงจำนวนส่วนใหญ่หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน ควบคู่กับการบูรณาการตามความเชื่อดั้งเดิม ปัจจุบันบ้านห้วยบงมีชาวบ้านบางส่วนไปนับถือศาสนาคริสต์ ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันคือสิ้นเปลืองในการประกอบพิธีเลี้ยงผี และเชื่อว่าเมื่อนับถือคริสต์ศาสนาแล้วดวงวิญญาณไม่สามารถที่มาเบียดเบียนครอบครัวได้ เพราะเมื่อนับถือศาสนาคริสต์แล้วต้องละทิ้งความเชื่อเดิมๆ ทั้งหมด ตลอดถึงประเพณี วัฒนธรรมของตนอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันมีจำนวนผู้นับถือพุทธศาสนาจำนวน 60 ครอบครัว นับถือศาสนาคริสต์  จำนวน 2 ครอบครัว

การประกอบอาชีพ

การประกอบอาชีพของปกาเกอะญอห้วยบง อยู่บนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบเพื่อยังชีพ ด้วยการทำการเกษตรปลูกข้าวไร่เป็นหลัก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในการใช้พื้นที่ทำกินแบบอนุรักษ์ที่เรียกว่า “ไร่หมุนเวียน” คือ ทำไปแล้วก็พักทิ้งไว้ 3-5 ปี ก็จะกลับทำใหม่วนเวียนกันอย่างนี้ตลอดไปเพื่อป้องการสูญเสียของหน้าดินและดินเสื่อมคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีการทำนาขั้นบันไดตามหุบเขา ปัจจุบันมีการปลูกพืชเงินสด หรือปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขายมากขึ้น เช่น กะหล่ำปลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง พืชผักผลไม้และดอกไม้เมืองหนาว รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ โดยเฉพาะไก่และหมูเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ความสำคัญทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านได้แก่ การเลี้ยงช้าง ในอดีตใช้ช้างเพื่อรับจ้างทำงานกับบริษัททำไม้ แต่ปัจจุบันก็ยังมีการเลี้ยงช้างไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ขี่เดินทางชมธรรมชาติในป่า นอกจากนี้ปกาเกอะญอยังเป็นนักล่าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคและชำนาญในการหาของป่ามาขายเป็นรายได้อีกด้วย

สื่อพื้นบ้าน

สำหรับสื่อพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอห้วยบงนั้นจะแฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิตทางสังคม วัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน และการสื่อสารผ่านการถ่ายทอดทางประเพณี พิธีกรรม การประดิษฐ์ เช่น การทอผ้า จักสาน เครื่องแต่งกาย การแสดงต่างๆ เช่น การเต้นรำ ดนตรี ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

พิกัด